Todo Trevel > หยุดเวลาไว้ที่...ภูฏาน

หยุดเวลาไว้ที่...ภูฏาน
โยนทิ้งวิถีชีวิตที่รีบเร่งไว้เพียงชั่วคราว แล้วปล่อยตัวปล่อยใจท่องเที่ยวให้ชุ่มชื่นหัวใจ
ในดินแดนไร้กาลเวลาเพราะวิถีชีวิตคนที่นี่เรียบง่าย เชื่องช้า แต่งดงาม
ไปสัมผัสดินแดนของ มังกรสายฟ้า (Druk Yul) หรือ ภูฏาน ที่คนไทยรู้จักกัน
สู่ดินแดน "มังกรสายฟ้า"
แม้จะไม่ค้นหูกับชื่อสายการบิน Druk Air สักเท่าไหร่แต่เราก็เชื่อใจว่า
สายการบินแห่งชาติลำนี้จะพาเรามุ่งสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
เพราะอย่างน้อยคนท้องถิ่นย่อมคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศของตัวเองอย่างดี
ด้วย ภูฏาน ถือเป็นประเทศที่แลนดิ้งยากแห่งหนึ่ง
เพราะเต็มไปด้วยขุนเขา แต่แล้วแค่เพียง 4 ชั่วโมง
ทีมนักเดินทางของเราก็มุ่งสู่ เมืองพาโร (Paro)
ซึ่งถือเป็นมืองเดียวใน ภูฏาน ที่มีพื้นที่ราบมากพอจะสร้างสนามบินได้

ภูฎาน
ครั้นเมื่อถึงที่พัก ทีมนักเดินทางของเราก็ได้รับการต้อนรับจากลามะท้องถิ่น
ด้วยบทสวดขอพรให้พวกเรามีความสุขและสุขภาพดี
โดยพิธีจะมีตั้งแต่เทน้ำศักดิ์สิทธิ์ในกาแล้วให้พวกเราเอามือรอง
ก่อนจะยกมือขึ้นมาดมและอังไว้ที่หน้าจนนำมาลูบไว้บนหัว
เพื่อความสิริมงคลก่อนจบพิธี
ลามะคนสุดท้ายจะเป็นคนผูกสายสิญจน์ให้แก่พวกเรา
ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าลามะที่นี่สามารถถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงได้
อย่างไรก็ดี ถ้าไล่เลียงสีของสายสิญจน์แต่ละเส้นจะเห็นว่า
แต่ละคนจะได้หลากสีสันต่างกันไป
ถ้าใครได้สีแดงจะเป็นตัวแทนของไฟ
ส่วนสีเขียวจะมีความหมายถึงสิ่งแวดล้อม
สีเหลืองคือผืนแผ่นดิน สีฟ้าคือน้ำ และสีขาวคือท้องฟ้า
แค่เพียงคำนิยามของสายสิญจน์เราก็พอจะเดาได้ว่า
คนภูฏานมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขามากขนาดไหน

ภูฎาน

บ่ายคล้อย...สถานที่แห่งแรกที่เราได้ไปเยี่ยมชมคือ
วัด Kyichu Temple ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 7
ภายในวัดเก่าคร่ำคร่าแถมยังมีเหล่าผุ้สูงอายุ
ต่างมาสวดมนต์และหมุนกงล้อ Wheel of Praying
เพื่อขอพรตามที่ตัวเองหวัง นอกจากนั้น
เรายังเห็น Religious Cake อันทำจากข้าว แป้ง และเนย
โดยมีความเชื่อว่าใครที่มีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน
ขอเพียงนำเค้กอันศักดิ์สิทธิ์นี้มาถวายที่วัด
เท่ากับทุกข์โศกโรคภัยออกจากบ้านแล้ว

ภูฏาน
ย่ำค่ำ...พวกเรามีโอกาสดินเนอร์ท่ามกลางแสงเที่ยนและดวงดาว
บน Victory Fortesse หรือ Drukgyel Dzong
ซึ่งกว่าจะถึงพวกเราจำเป็นต้องไต่เนินเขาสูงชันพอประมาณ
กว่าจะไปเยี่ยมชมป้อมแห่งชัยชนะนี้ได้ตามคำบอกเล่าของไกด์
ป้อมแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งบอกถึงชัยชนะที่มีต่อชาวทิเบตผู้รุกราน
ซึ่งป้อมแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน
แต่ยังไม่ได้รับการบูรณะจากรัฐบาล เพราะยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน
โรแมนติกที่ Paro Fortesse
รุ่งเช้า...สถานที่เที่ยวแห่งต่อไป หลายคนอาจคุ้นตา
เพราะเป็นสถานที่เดียวกับที่ซูเปอร์สตาร์ฮ่องกง-เหลียงเฉาเว่ยและแฟนสาวเข้าสู่ประตูวิวาห์
โดยเลือก Paro Fortesse หรือ Paro Dzong นี่แหละ
เป็นฉากหลังในการถ่ายรูปชุดแต่งงานท่ามกลางลามะน้อย


จากปากคำของ Tashi ไกด์ประจำตัวของเราบอกว่า
ป้อมแป่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1646 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ารุกราน
ภายในป้อมจะแบ่งแยกเป็นสถานที่ราชการและวัด
ซึ่งก่อนเข้าป้อมจะแห่งนี้ไกด์ของเราจำเป็นต้องคาดผ้าสีขาว
เพื่อถวายความสักการะเมื่อถามไถ่ว่าผ้าคาดนี้แต่ละชนชั้นสีเดียวกันหรือไม่
Tashi บอกว่า ถ้าเป็นคนธรรมดาจะใช้ผ้าคาดสีขาว
ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะใช้สีแดง เหล่ารัฐมนตรีใช้สีส้ม
ส่วนกษัตริย์และผู้นำทางจิตวิญญาณจะใช้สีเหลือง
ส่วนผู้หญิงสามารถเลือกใช้ผ้าหลากสีสันได้

ชาวภูฎาน
ภูฎาน

ครั้นเมื่อเดินผ่านประตูป้อมจะมีภาพวาดฝาผนังแสดงถึงเทพเจ้าทั้ง 4 ทิศ
ภาพฝาผนังอีกอันที่สำคัญคือภาพ Wheel of Life หรือ กงล้อแห่งชีวิต
อันประกอบด้วยสวรรค์ ครึ่งเทพ (Demi-God) โลกมนุษย์
สัตว์เดรัจฉาน นรกและเปรต
ชาวภูฏานมีความเชื่อเหมือนคนไทยว่า
ถ้าทำดีจะอยู่ในบริเวณที่เป็นสีขาว
ส่วนทำชั่วจะอยู่ในบริเวณที่เป็นสีดำ

ภูฎาน
พอผ่านพ้นบริเวณภาพวาดฝาผนังแล้ว เราจะเป็นสถานที่ราชการที่ดูเงียบสงบ
และสำนักสงฆ์ที่อยู่ลึกเข้าไปข้างใน
ภายในอุโบสถเป็นที่ตั้งของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ส่วนฝั่งขวาจะป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
และฝั่งซ้ายเป็นพระพุทธเจ้าในอดีตกาล
Tashi บอกกับเราในภูฏานมีคนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานถึง 80%
ที่เหลืออีก 20% นับถือศาสนาฮินดู
และด้วยความที่คนภูฏานเป็นคนเคร่งศาสนามาก
เหตุนี้จึงไม่มีการฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย หมู ไก่
พวกเขาจึงนิยมนำเข้าเนื้อสัตว์จากอินเดียแทน
ภูฎาน
นอกจากนั้น ชาวภูฏานกว่า 60% ทำอาชีพกสิกรรม
คือปลูกมันฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม ฯลฯ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอินเดียและบังกลาเทศ
แต่ร้ายได้หลักกลับเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่อินเดีย
และรายได้ที่สองคือ การท่องเที่ยว และการทำกสิกรรม ตามลำดับ
วัดใจ.. ที่วัด Taktshang
แม้จะตื่นแต่เช้าตรู่ แต่พวกเรายังคงมีเรี่ยวแรง
พอที่จะไต่เขาระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,180 เมตร
(ความสูงของดอยอินทนนท์บ้านเรายังแค่ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล)
ที่วัด Taktshang หรือ Tiger Nest วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17
โดยมีตำนานเล่าว่า ผู้มีอิทธิฤทธิ์ได้ขี่หลังเสือที่บินได้ขึ้นไป
สร้างวัดอันศักดิ์สิทธิ์ถึงบนยอดเขาสูงเมื่อ Tashi เล่าจบ
เราก็หันไปถามว่า ตัวเขาเองเชื่อมั้ยกับตำนานอันนี้
เสียงหัวเราอย่างอารมณ์ดีคือคำตอบของเขา

ภูฎาน
และแล้วก็ถึงเวลาวัดพลังกายพลังใจของการปีนเขาสูงที่ใช้เวลาขึ้น 2 ชั่วโมงกว่า
และลงอีก 2 ชั่วโมงกว่า แม้ในทริปจะมีคนกล้าขึ้นเขาโดยไม่ใช้ลา ล่อ และม้า
แต่ส่วนใหญ่เมื่อได้ลองเดินแล้วจะพบว่า ความกดอากาศต่ำยิ่งทวีความเหนื่อยล้า
แถมความชันของเขายิ่งทำให้การเดินขึ้นเขายากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทางไกด์จึงให้พวกเราทยอยขี่ม้า ล่อ และลาตามใจชอบ
ส่วนเราโชคดีหน่อยที่เลือกม้าที่ถูกผึกมาอย่างดีแล้ว
ฉะนั้น ไม่ว่าม้าตัวข้างหน้าจะหยุดหรืออู้งานยังไง
ม้าของเราก็จะทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีที่สุด
เสียอย่างเดียวมันชอบเดินบนพื้นดินนิ่ม ๆ ที่อยู่ตรงไหล่เขา
มองดิ่งลงไปก็เป็นทางลาดชันทำให้เกิดอาการหวาดเสียวไปตลอดทาง
เพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่งถึงกับบ่นว่า...ไม่มีกะจิตกะใจจะดูวิวข้างทาง
เพราะความสนใจอย่างเดียวคือขาม้า...ที่จะตกหล่นไหล่เขาไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้!
แต่ขาลงต้องเดินลงสถานเดียว เพราะไหล่เขาที่ชันจะทำให้เป็นอันตรายทั้งม้าและผู้ขี่ได้
ฉะนั้น ผู้จะขึ้นเขานี้ควรฟิตแอนด์เฟิร์มจริงๆ
อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อมาถึงบนยอดเขาเราถึงรู้ว่า
เหตุใดทริปครั้งนี้ถึงมีคอนเซ็ปต์ว่า Great Expectation
เพราะวัดแห่งนี้จะเปิดให้ผู้คนเข้าสักการะแค่เพียงหนึ่งวันในรอบหนึ่งปี
ฉะนั้น ถือเป็นความโชคดีของพวกเราที่มีโอกาสเข้าสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนภูฏานแห่งนี้
ถ้าใครอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตของคนภูฏาน
ขอเตือนว่านอกจากจะต้องพกเงินไว้เต็มกระเป๋าแล้ว
ควรพกพลังกายพลังใจให้พร้อมเพื่อประสบการณ์ Great Expectation อย่างแท้จริง
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก. Lisa
รูปภาพจาก. Wikipedia
เรียบเรียง,ขัดเกลา. Kiat Zero

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น