HATYAI My home town


HATYAI MY HOME TOWN



ประวัติหาดใหญ่


บ้านโคกเสม็ดชุน เมื่อปี 2428 ปรากฏหลักฐานว่ามีชาวบ้านตั้งบ้านเรือน อยู่ที่ที่ทำการไปรษณีย์ โทรเลข เชิงสะพานลอยเป็นบ้านของนายปลอด ปลูกอยู่ในอาณาเขตของ บ้านโคกเสม็ดชุน และยังมีบ้านอีกหลายหลังตั้งอยู่ห่าง ๆ กันไปจนถึงบริเวณที่ทำการสถานีตำรวจรถไฟ บริเวณบ้านโคกเสม็ดชุนมีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ต้นมะม่วง ต้นมะไฟ ต้นตาล ฯลฯ

ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ อย่างหนึ่งของชาวบ้าน ที่มักจะปลูกผลไม้พื้นบ้านควบคู่ไปกับการตั้งบ้านเรือนเสมอ สภาพพื้นที่โดยรอบ บ้านโคกเสม็ดชุนในสมัยนั้น เป็นหนองเป็นบึง มีป่ารกร้างโดยรอบบ้านเรือนของผู้คน แต่ก็ยังมีชาวบ้านจากบ้านอื่นๆ เช่น บ้านกลาง ได้ขยับขยายย้ายถิ่นฐานไปบุกเบิกป่ารกร้าง แห่งหนึ่ง (ปัจจุบัน คือ บริเวณที่ตั้งของวัดโคกสมานกุล)ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า บ้านปลักขี้ใส่โพลง

ผู้บุกเบิกป่าในช่วงนั้นมีอยู่สองครอบครัว คือ นายบัวแก้ว นางหนุนจีน จันทเดช และนายเพ็ชรแก้ว นางเขียว ไชยะวงศ์ ในสมัยรัชการที่ 5 กระทรวงคมนาคม ได้ประกาศเวณคืนที่ดินส่วนหนึ่ง (ที่ตั้งของบ้านพักรถไฟในปัจจุบัน) เพื่อตัดทางรถไฟ ผ่านไปปาดังเบซาร์ แหลมมาลายู และสิงคโปร์ ชาวบ้านครอบครัวหนึ่งคือ นายง่วง นางซีด้วง สะระ ได้รื้อ ย้ายหามเรือนไห ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของโรงแรมวังน้อย (ใกล้สี่แยกถนนดวงจันทร์ - ถนนแสงจันทร์) ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกบริเวณแถบนี้ว่า บ้านโคกบก เป็นบ้านรกร้างมานานหลายสิบปี ผู้บุกเบิกป่าบ้านโคกบกมาก่อนคือ นายเพ็ชร แก้วไชยวงศ์ และนายสัก บุญมี

ในช่วงเวลาอันไล่เลี่ยกันนี้ชาวบ้าน จากบ้านต่างๆ พากันบุกเบิกป่าอีก หลายแห่ง เช่นแถบบริเวณวัดมงคลเทพาราม หรือวัดปากน้ำ ถนนแสงศรี หรือในสมัยก่อนเรียกว่า ปลักโต้พุดทอง และ ปลักจันเหร็ง มีสภาพเป็นหนองเป็นป่าลึกมาก บรรพบุรุษรุ่นก่อนได้ช่วยกันบุกเบิกแหล่งรกร้างพัฒนา แหล่งทำกินไว้ให้ กับชนรุ่นหลังได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล คลองเตย เป็นคลองสายเก่าแก่ที่สุดของนครหาดใหญ่ เมื่อกว่า 80 ปีก่อน คลองเตยยังเป็นคลองน้ำลึกและกว้างมาก มีพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น มีสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลา เต่า ตะพาบน้ำ หอยโข่ง และอื่นๆ อาศัยอยู่มากมาย ส่วนริมฝั่งคลองเตยทั้ง 2 ฝั่ง มีต้นไม้ใหญ่เรียงราย โดยเฉพาะต้นไผ่ป่าขึ้น เรียงเป็นแถวเป็นแนวเหมือนกำแพงทั้ง 2 ฝั่งคลอง คลองสายนี้มีต้นน้ำมาจากทางด้านตะวันออก ไหลเข้าสู่ทางด้านใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ผ่านบริเวณทุ่งเสาไหลเรียบ ถนนสายต่างๆ ในตัวเมืองหาด ใหญ่ เป็นคลองที่มีความยาวและคดเคี้ยวไปมา ในปัจจุบันตื้นเขินและไม่สามารถสัญจรได้ คลองอู่ตะเภา อยู่ทางทิศตะวันตก ยาวประมาณ 15 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำมากตลอดทั้งปี ใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ ในสมัยก่อน บริเวณแถบริมคลองอู่ตะเภามี ลักษณะเป็นหาดทรายใหญ่ แต่ปัจจุบันไม่มีหาดทรายหลงเหลืออยู่เลย เพราะได้นำทราย ไปใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นแล้ว หาดทรายนี้เกิดจาก การพัดพาธารน้ำเล็กๆ สามสายไหลมาบรรจบกัน ธารน้ำทั้งสามสายนี้ ยังเป็นแหล่งที่ชาวบ้านพากันมาล้างแร่ด้วยเวลาผ่านไปทรายที่ถูกน้ำพัดพามาก็รวมกันเป็นหาดทรายกว้าง เรียกว่า หาดทราย และใช้เป็นแหล่งตลาดนัดสำหรับขายของในสมัยก่อน

การพัฒนาความเจริญของนครหาดใหญ่

หาดใหญ่ เป็นชื่อรวมของหมู่บ้านโคกเสม็ดชุน และบ้านหาดใหญ่ เดิมดินแดนหาดใหญ่เป็นเนินสูงมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก การคมนาคมไม่สะดวก เป็นป่าต้นเสม็ดชุน โดยทั่วไปชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านโคกเสม็ดชุน เมื่อทางการ ได้ตัดทางรถไฟ มาถึงท้องถิ่นนี้ จึงมีประชาชนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ


สมัยนั้นสถานีชุมทางรถไฟอยู่ที่สถานีอู่ตะเภา (ด้านเหนือของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ในปัจจุบันเป็นเพียงที่หยุดรถไฟ) เนื่องจากสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีมาอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ปัจจุบัน ประชาชนได้ทะยอยติดตามมาสร้างบ้านเรือนตามบริเวณสถานีนั่นเอง ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่ากิจการรถไฟมีบทบาทต่อ การขยับขยายและความเจริญก้าวหน้าของนครหาดใหญ่ตลอดมา ต่อมาได้มีผู้เห็นการไกล กล่าวว่า บริเวณสถานีรถไฟ หาดใหญ่นี้ ต่อไปภายหน้าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จึงได้มีการจับจอง และซื้อที่ดินแปลงใหญ่ จากราษฎรพื้นบ้าน บุคคลที่ครอบครองแผ่นดินผืนใหญ่ ๆ อาทิ นายเจียกีซี (ต่อมาได้รับพระราชทานนาม เป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร) คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง และพระยาอรรถกระวีสุนทร ทั้ง4 ท่านนี้นับว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ ์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่นครหาดใหญ่อย่างแท้จริง ได้ตัดถนน สร้างอาคารบ้านเรือนให้ ราษฎรเช่า ตัดที่ดินแบ่งขาย เงินที่ได้ก็นำไปตัดถนนสายใหม่ต่อไป ทำให้ท้องถิ่นรุดหน้าอย่างอัศจรรย์ ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้ บ้านหาดใหญ่ เป็นอำเภอที่มีชื่อว่า อำเภอเหนือ


ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอเหนือ เป็น อำเภอหาดใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก ในที่สุดปี พ.ศ. 2471 หาดใหญ่มีฐานะเป็น สุขาภิบาล ซึ่งประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2471 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 กรกฎาคม2471 ต่อมาสุขาภิบาลแห่งนี้ เจริญขึ้น มีพลเมืองหนาแน่นขึ้น และมีกิจการเจริญก้าวหน้ากระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ พระราชกฤษฎีกากา ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลหาดใหญ่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2478 ซึ่งในขณะนั้นมีเนื้อที่ 5 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 5,000 คน รวมถึงมีรายได้ประมาณ 60,000 บาท เนื่องจากประชาชนในเขตเทศบาลอยู่หนาแน่น พร้อมทั้งกิจการได้เจริญขึ้น จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลจึงได้มี พระราชกฤษฎีกายกฐานะ เทศบาลตำบลหาดใหญ่ เป็น เทศบาลเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2492 ตามประกาศใน พระราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 มีนาคม 2492 ในขณะนั้นมีเนื้อที่ 5 ตารางกิโลเมตร มีประชากร ประมาณ 19,425 คน มีรายได้ 374,523.33 บาท

คำขวัญเทศบาลนครหาดใหญ่

"ฟ้าสวย น้ำใส หาดใหญ่สะอาด ราษฎร์ปลอดภัย"



ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า ชื่อบ้านหาดใหญ่นี้มาจากชื่อของ “ต้นมะหาดขนุน” ขนาดใหญ่ซึ่งยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งคลองเตย(ทางเข้าหมู่บ้านจันทร์ นิเวศน์และบ้านทุ่งเสา ปัจจุบันคือช่วงปลายสุดของถนนนิพัทธ์อุทิศ 3) ต้นมะหาดขนุนนี้เองที่ชาวบ้านในสมัยก่อนใช้เป็นที่หลบไอแดดในช่วงกลางวัน ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “หาดใหญ่” ดังปัจจุบัน


ที่ตั้ง

อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 เมื่อผ่านสี่แยกเข้าตัวเมืองชุมพร ตรงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้งจนถึง อ.หาดใหญ่



รถประจำทาง มีรถปรับอากาศกรุงเทพ-หาดใหญ่ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน โทร.(02)4351195 , (02)4345557



รถไฟ มีรถไฟกรุงเทพฯ-หาดใหญ่บริการทุกวัน ติดต่อ (การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร (02)2237010 ,2237020)



เครื่องบิน มีบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน (ติดต่อ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) กองสำรองที่นั่ง โทร (02)628200 )

หากเอ่ยถึงภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยแล้ว หาดใหญ่เมืองธุรกิจท่องเที่ยวแห่งการซื้อขายสินค้า ย่อมเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางไม่ควรพลาด

หาดใหญ่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,200 กิโลเมตร สะดวกแก่การเดินทางทุกเส้นทาง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในภาคใต้ตอนล่าง

หาดใหญ่เป็นเมืองธุรกิจ ที่มีบรรยากาศคึกคักแห่งการซื้อ-ขาย จัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวยามราตรีอีกแห่งหนึ่ง และในขณะเดียวกันการเดินทางเพียงแค่ 26 กิโลเมตร สู่ อ.เมืองสงขลา ก็จะได้พบกับบรรยากาศของเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักความสงบ ด้วยบรรยากาศทั้ง 2 รูปแบบ ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้จึงเป็นมนต์เสน่ห์ของหาดใหญ่-สงขลา


สำหรับการท่องเที่ยวในหาดใหญ่คงต้องเน้นไปที่ความเพลิดเพลินในการเดินช้อปปิ้งจับจ่ายสินค้า และเลือกลิ้มชิมอาหารทั้งรสชาติแบบไทยๆ รสเด็ด อาหารทะเลสดๆ และอาหารจีนขึ้นชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งแต้เตี้ยม หูฉลามฯ และรังนก หารับประทานได้ในตัวเมืองบริเวณ ถ.เสน่หานุสรณ์ และ ถ.นิพัทธ์อุทิศ 2,3 สำหรับแหล่งเดินจับจ่ายซื้อของมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ ได้แก่


ตลาดสันติสุข เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายยี่ห้อ น้ำหอมและเครื่องสำอางขึ้นชื่อ ราคาถูก มีร้านค้าและแผงลอยให้เลือกกว่า 50 ร้าน การเดินทางสะดวกเพราะอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ แวดล้อมไปด้วยโรงแรม ที่พักตลอดจนร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า สำหรับตลาดแห่งนี้เปิดให้บริการเวลาประมาณ 9 โมง จนกระทั่งเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม ร้านค้าก็เริ่มที่จะทยอยปิดร้าน


ตลาดกิมหยง ห่างจากตลาดสันติสุขประมาณ 300 เมตร เป็นตลาดขึ้นชื่อในการจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลไม้จากทางประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่าย น้ำหอมเครื่องสำอาง มีร้านค้าให้เลือกบริการกว่า 50 ร้าน เปิดให้บริการในช่วงเวลา 9 โมง ถึง 6 โมงเย็น อีกด้านหนึ่งของตลาดกิมหยงเป็นตลาดสด มีอาหารทะเลสดๆ ผักผลไม้ ดอกไม้ ให้เลือกจับจ่ายตั้งแต่เช้าตรู่ การเดินทางไปมาสะดวก เป็นเส้นทางผ่านของรถโดยสารประจำทางแทบทุกสาย ตลอดจนเป็นเส้นทางผ่านเข้าสู่ใจกลางเมือง


ณ วันนี้ หาดใหญ่ ไม่ใช่เมืองธุรกิจท่องเที่ยวในการจับจ่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างเช่น น้ำตกโตนงาช้าง น้ำตก 7 ชั้น ที่มีลักษณะทางกายภาพของสายน้ำที่ไหลตกมาคล้ายกับงาช้าง , สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่ของชาวหาดใหญ่และใกล้เคียง นอกจากนี้ภายในสวนสาธารณะฯ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพร สร้างด้วยหินหยกสีขาวขนาดใหญ่ ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวแวะมานมัสการเป็นจำนวนไม่น้อย อีกหนึ่งแหล่งที่ชาวหาดใหญ่ขอแนะนำ “วัดหาดใหญ่ใน” นมัสการพระนอนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก เพื่อความเป็นสิริมงคล


เมื่อมาถึงหาดใหญ่ต้องไม่ควรพลาดการสัมผัสบรรยากาศการท่องเมืองยามราตรีของหาดใหญ่ มีแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนไว้คอยให้บริการเป็นจำนวนมาก อีกมุมหนึ่งที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสยามค่ำคืน คือ เมืองแห่งร้านน้ำชา เนื่องจากมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มประเภท น้ำชา-กาแฟ วางจำหน่ายริมฟุตบาทแทบจะกล่าวได้ว่ามีอยู่รอบเมืองหาดใหญ่ก็ว่าได้ นับว่าเป็นสิ่งดึงดูดวัยรุ่นในหาดใหญ่ซึ่งกำลังมาแรง ก็นับว่าเป็นแหล่งชุมนุมวัยรุ่นแห่งใหม่ ( ประหยัดทั้งเงินทองและสุขภาพ ควักเงินจากกระเป๋าเพียงแค่แก้วละ 10 บาท ก็สามารถสร้างวงล้อมสนทนากันได้นานพอสมควร เหมาะแก่วัยรุ่นบ้านเราที่ยังไม่สามารถสร้างอำนาจซื้อได้ด้วยตัวเอง )


จากตัวเมืองหาดใหญ่มุ่งหน้าตรงสู่ อ.เมืองสงขลา สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ บน
ถ.กาญจนวนิช และ ถ.ลพบุรีราเมศร์ ระยะทางเพียงแค่ 26 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ก็จะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติริมทะเล อย่างเช่น หาดสมิหลา แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.สงขลา และในละแวกบริเวณใกล้เคียงสามารถเที่ยวชม แหลมสนอ่อน แวะกราบไหว้บูชากรมหลวงชุมพรฯ ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น , เขาตังกวน ชมทัศนียภาพของตัวเมืองสงขลา และในระหว่างเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองสงขลา ก็สามารถแวะเที่ยวชม สะพานติณสูลานนท์ สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เลือกหาซื้อสินค้าและผ้าเกาะยอเป็นของฝาก รับประทานอาหารทะเลสดๆ ที่ เกาะยอ และปิดท้ายด้วยการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ที่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา


นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในอำเภอต่างๆ ใน จ.สงขลา ได้แก่ อุโมงประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง , วัดพะโคะ , วัดถ้ำเขารูปช้าง , หาดสะกอม เป็นต้น


หาดใหญ่-สงขลา ณ วันนี้พร้อมแก่การต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หากเพื่อนๆ มีโอกาสได้เดินทางมายังภาคใต้ตอนล่างแล้ว ก็อย่าลืมเผื่อเวลาเที่ยวใน จ.สงขลา 2-3 วันด้วยน๊ะ แล้วผมจะมาอัพเดทข้อมูลเพิ่มนะครับ


~kiatzero~



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น